วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

80ปีวันรัฐธรรมนูญ

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2555 เวลา 16:00 น.

       วันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญ เรียกให้ถูกก็ต้องเรียกว่าวันที่ระลึกแห่งการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก ทางราชการประกาศเป็นวันสำคัญของชาติมาตั้งแต่ พ.ศ.2475-2476 และได้เป็นวันหยุดราชการประจำปีอีกด้วย ยิ่งปีนี้ตรงกับวันจันทร์เลยได้หยุดยาวตั้งแต่เสาร์ที่ 8 ยันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม อาจมีบ้างที่เห็นว่าไหน ๆ ก็หยุดราชการมาตั้งแต่วันพุธที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาแล้ว จะลาหยุดวันพฤหัสที่ 6 และวันศุกร์ที่ 7 อีกสองวันจะเป็นไร ทีนี้ยาวล่ะครับ!

       สมัยก่อนช่วงวันที่ 10 ธันวาคมจะมีงานรื่นเริงใหญ่ที่สวนสราญรมย์และทางการส่งเสริมให้ทุกจังหวัดจัดทั่วประเทศเหมือนงานกาชาดทุกวันนี้เรียกว่างานวันรัฐธรรมนูญ ไฮไลต์อยู่ที่การประกวดนางงาม แรก ๆ เรียกว่านางสาวสยาม พอเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นไทยแล้วก็เรียกว่านางสาวไทย นางสาวสยามคนแรกชื่อกันยา เทียนสว่าง! วันรัฐธรรมนูญมีครั้งแรกในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 เรื่องเดิมมีอยู่ว่าในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามให้รัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธย ทรงพิจารณาแล้วได้ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้ายเพื่อให้รู้ว่าเป็นฉบับชั่วคราวใช้แก้ขัดไปพลางก่อน และได้ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานกลับลงมาในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ว่าไปแล้วนี่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกเชียวล่ะ แต่ที่ไม่เรียกรัฐธรรมนูญเพราะตอนนั้นยังไม่รู้จักคำนี้ อีกทั้งเราไปถือว่าเป็นฉบับชั่วคราว ประกอบกับครั้งนั้นดูจะเป็นการขู่กลาย ๆ ให้ทรงยอมรับกฎหมายฉบับนี้ โดยทั่วไปจึงไม่ให้ความสำคัญมากนัก บางทีพลอยถือว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับแรกด้วยซ้ำ  หลังจากนั้นก็มีการตั้งคณะกรรมการราษฎรขึ้นมาเป็นเหมือนรัฐบาล มีหัวหน้าเรียกว่าประธานกรรมการราษฎรชื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน) แล้วก็ลงมือตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะอนุกรรมการยอมรับฟังเสียงข้างนอกอยู่มาก แม้แต่การเสนอให้เรียกชื่อกฎหมายใหม่นี้ว่า “รัฐธรรมนูญ” ก็มาจากภายนอก อีกทั้งคณะอนุกรรมการยังรับฟังพระราชกระแสของรัชกาลที่ 7 เป็นระยะ ๆ ทุกอย่างจึงดูจะราบรื่นดี เมื่อการจัดทำและการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นลง รัฐบาลก็เตรียมจะถวายพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แต่เพื่อให้ดูขึงขังศักดิ์สิทธิ์ก็ได้ขอให้เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (อยู่) เจ้าอาวาสวัดสระเกศซึ่งเป็นโหรใหญ่คำนวณฤกษ์อันเหมาะสมสำหรับการพระราชทาน ท่านให้ฤกษ์ว่าควรเป็นวันที่ 10 ธันวาคม ช่วงเช้า จึงได้มีรัฐพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคมในวันนั้น พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น) ประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นจึงประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมเป็นวันรัฐธรรมนูญตลอดมา แม้จะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาแล้วสิบกว่าหน แต่ถือว่าเป็นการใช้ชื่อรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกและเป็นฉบับถาวรฉบับแรก ทั้งมีพิธีรีตองสมพระยศพระเกียรติทุกฝ่าย   ฤกษ์ 10 ธันวาคมดูจะศักดิ์สิทธิ์เอาการ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้อยู่นาน 14 ปีจนถึง พ.ศ.2489 จึงยกเลิก ต่อมาในปี 2494 มีการปฏิวัติ ครั้นถึง พ.ศ.2495 ได้มีการนำฉบับนี้ย้อนกลับมาใช้อีกหนโดยแก้ไขบางมาตรา รอบสองนี้ใช้อยู่นานถึง 7 ปี รวมกับรอบแรกกลายเป็น 21 ปี ชีวิตนี้เราคงไม่เห็นรัฐธรรมนูญฉบับไหนของไทยยาวกว่านี้หรอกครับ ในระดับนานาชาติ วันที่ 10 ธันวาคมเป็นวันสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะมีการประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติใน พ.ศ.2491 จึงมีการฉลองวันที่ 10 ธันวาคมในหลายประเทศ 


อ้อ! ธรรมศาสตร์เขาก็จัดงานวันธรรมศาสตร์ในวันนี้ด้วยนะครับ          ปีนี้วันรัฐธรรมนูญเวียนมาบรรจบครบ 80 ปี วันน่ะครบ 80 ปี แต่ตัวรัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่ได้มีอายุครบ 80 ปี บัดนี้หายไปไหนแล้วก็ไม่รู้เพราะเราขยันฉีก ขยันร่างกันจริง เบื่อก็เปลี่ยน ไม่ชอบบางมาตราก็เปลี่ยนมันทั้งฉบับ คนไม่ดีก็โทษรัฐธรรมนูญ เหมือนรำไม่ดีโทษปี่โทษกลองโทษคนฟังว่าหูไม่ถึงเอง นี่ก็ประกาศกันแล้วว่าวันนี้จะเป็นวัน “คิกออฟ” การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา แต่อย่าดับบ่อยเลยครับ กลัวจะจุดใหม่ให้ติดยาก ยิ่งมีคนอยากแช่แข็งอยู่ด้วย ทีนี้ล่ะแช่ไปแช่มากลายเป็นฟอสซิลหรือต้นไม้กลายเป็นหินหรือ “คิกเอาต์”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น